วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

บทที่ 6 การเขียนผังงาน

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่าก่อนที่จะลงมือเขียนโปรมแกรมจะต้องมีการวางแผนขั้นตอนการทำงานมาก่อนผังงาน(Flowchart) เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถนำมาช่วยในพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ โดยจะเป็นการเขียนอธิบายขั้นตอนวิธีการทำงานในลักษณะของรูปภาพ ทำให้สามารถนำผังงานมาช่วยในลำดับขั้นตอนการแก้ปัญหาได้อย่างชัดเจน 
6.1 ความหมายของผังงาน 
                ผังงานหรือเรียกกันว่าโฟลวชาร์ตเป็นแผนภาพที่ใช้ออกแบบและอธิบายการทำงานของโปรแกรมโดยอาศัยรูปทรงต่างๆ รวมทิศทางการไหลของข้อมูลตั้งแต่เริ่มต้นจนได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการระบบงานทุกชนิดที่ผ่านการวิเคราะห์เป็นลำดับขั้นตอนแล้วจะสามารถเขียนเป็นผังงานได้ 
ประโยชน์ของผังงาน 
1.    ทำให้เข้าใจขั้นตอนและลำดับในการทำงานของโปรแกรมอย่างรวดเร็ว 
2.    เป็นสื่อกลางระหว่างผู้พัฒนาโปรแกรม ให้สามารถเข้าใจโปรแกรมได้ง่าย 
3.    ทำให้สามารถวิเคราะห์ความถูกต้องของโปรแกรมก่อนเขียนโปรแกรมจริงได้ง่ายและตรวจสอบข้อผิดพลาดไดง่าย 
4.    ทำให้ผู้อื่นสามารถศึกษาการทำงานของโปรแกรมและแก้ไขโปรแกรมได้ง่าย 
การเขียนผังงานที่ดี 
1.     เขียนตามสัญลักษณ์ที่กำหนด 
2.     ใช้ลูกศรแสดงทิศทางการทำงานจากบนลงล่าง 
3.     อธิบายสั้น ๆ ให้เข้าใจง่าย 
4.     ทุกแผนภาพต้องมีทิศทางเข้าออก 
5.     ไม่ควรโยงลูกศรไปที่ไกลมาก ๆ ถ้าต้องทำให้ใช้สัญลักษณ์การเชื่อมต่อแทน 
6.2 ประเภทของผังงาน 
                การเขียนผังงานในทางคอมพิวเตอร์สามารถแบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ คือ 
1.ผังงานระบบ 
ใช้แสดงขั้นตอนการทำงานภายในระบบงานหนึ่ง ๆ โดยกล่าวถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น เอกสารเบื้องต้นคืออะไร วัสดุที่ใช้คืออะไร ใช้หน่วยความจำประเภทใด จะต้องส่งผ่านไปยังหน่วยงานใด
2. ผังงานโปรแกรม 
                ผังงานประเภทนี้จะแสดงถึงขั้นตอนของที่ใช้ในการทำงานของโปรแกรม โดยเริ่มตั้งแต่การรับข้อมูล การประมวลผล การแสดงข้อมูลที่เป็นผลลัพธ์ในการทำงาน บางครั้งจะเรียกว่าผังการเขียนโปรแกรม 
6.3 สัญลักษณ์ที่ใช้ในการเขียนผังงาน 
                การเขียนผังงานจะต้องใช้สัญลักษณ์ภาพต่าง ๆ นำมาเรียงต่อกันเพื่อแสดงลำดับการทำงาน สัญลักษณ์มาตรฐานนี้เรียกว่า สัญลักษณ์ ANSI
จุดเริ่มต้นและสิ้นสุดโปรแกรม 
                การกำหนดจุดเริ่มต้นของโปรแกรมจะเขียนคำอธิบายคำว่า Start หรือคำว่า Begin เข้าไปในสัญลักษณ์เริ่มต้น ของผังงานจากนั้นจะใช้ลูกศรชี้ออกไปยังจุดที่ต้องการประมวลผลต่อไป ถ้าหากเป็นจุดสิ้นสุดโปรแกรมจะเขียนว่า Stop หรือ End เข้าไปในสัญลักษณ์โดยมีลูกศรชี้เข้า และจะไม่มีลูกศรชี้ออก ในผังงานแต่ละผังงานจะมีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดเพียงอย่างละหนึ่งแห่งเท่านั้น
การประมวลผล 
                สัญลักษณ์รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าจะใช้สำหรับการประมวลผล  การกำหนดค่า และการคำนวณ โดยจะเขียนวิธีการประมวลผลเข้าไปในสัญลักษณ์ และใช้เครื่องหมายลูกศรหรือเท่ากับในการส่งค่าไปประมวลผลขั้นต่อไป 
การรับข้อมูลเข้าและแสดงข้อมูลออก  
                การรับข้อมูลเข้าและแสดงข้อมูลออกโดยไม่ระบุประเภทของอุปกรณ์ที่รับและส่งข้อมูล จะใช้สัญลักษณ์รูปสี่เหลี่ยมด้านขนาน โดยจะมีทิศทางข้อมูลเข้าออกได้อย่างละหนึ่งทิศทาง และเขียนคำอธิบายกำกับไว้ภายใน 
การแสดงข้อมูลออกทางเครื่องพิมพ์ 
                การแสดงข้อมูลออกทางเครื่องพิมพ์จะใช้สัญลักษณ์ Document ในการแสดงผลโดยข้อมูลที่แสดงผลจะเขียนอยู่ในสัญลักษณ์นี้จะแสดงข้อมูล Data ออกทางเครื่องพิมพ์ สัญลักษณ์นี้จะมีลูกศรเข้าออกได้อย่างละหนึ่งทิศทาง 
การตัดสินใจ 
                การตัดสินใจหรือการเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งจะใช้สัญลักษณ์สี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ในการตรวจสอบเงื่อนไขเพื่อตัดสินใจการทำงาน โดยเงื่อนไขที่จะตรวจสอบจะเขียนอยู่ในสัญลักษณ์นี้ ในส่วนของลำดับการทำงานจะมีลูกศรชี้เข้า 1 ทาง และลูกศรชี้ออก 2 ทาง โดยถ้าเงื่อนไขเป็นจริง (Y) จะทำโปรแกรมทิศทางหนึ่ง ถ้าเป็นเท็จ (N) จะทำอีกทิศทางหนึ่ง ในการเขียนลูกศรจะเขียนคำอธิบายไว้ที่ลูกศรด้วย เป็นการตรวจสอบว่าตัวแปร age มากกว่าหรือเท่ากับ 50 จริงหรือไม่ ถ้าตัวแปร age มากกว่าหรือเท่ากับ 50 จะทำทิศทาง Y ถ้า age น้อยกว่า 50 จะทำทิศทาง N
การต่อกับอุปกรณ์เก็บข้อมูลแบบดิสก์
                ถ้าหากต้องการอ่านหรือเขียนข้อมูลกับอุปกรณ์เก็บข้อมูลแบบดรัมแม่เหล็ก หรืออุปกรณ์ที่เข้าถึงแบบโดยตรง จะใช้สัญลักษณ์ Magnetic drum เพื่อแสดงการรับหรือส่งข้อมูล สัญลักษณ์นี้จะมีลูกศรได้ทั้งแบบชี้เข้าและชี้ออก 
จุดต่อ 
                ผังงานที่มีความยาวนานมากหรือมีเส้นตัดกันมากนั้น เราสามารถลดความยุ่งยากในการเขียนได้โดยการนำจุดต่อมาใช้ ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจผังงานได้ง่ายขึ้น ถ้าหากผังงานเขียนอยู่ภายในหน้าเดียวกัน สัญลักษณ์ที่ใช้แสดงจุดต่อจะใช้สัญลักษณ์วงกลม และเขียนหมายเลขจุดต่อที่เป็นจุดต่อถึงกันเอาไว้ภายใน 
จุดต่อระหว่างหน้า 
                ถ้าหากมีการสร้างจุดต่อเนื่องที่อยู่คนละหน้า หรือต้องการสร้างจุดต่อที่อยู่ระหว่างหน้า จะใช้สัญลักษณ์ Off-Page Connector ซึ่งเป็นรูปห้าเหลี่ยมแสดงจุดต่อสำหรับเชื่อมการทำงานถึงกัน โดยภายในสัญลักษณ์จะเขียนหมายเลขจุดที่ต้องการเชื่อมต่อเอาไว้ด้วย และใช้ลูกศรแสดงทิศทางการทำงานของโปรแกรม 
6.4 หลักเกณฑ์การเขียนผังงาน 
                การเขียนผังงานที่ดีสามารถสรุปเป็นหลักเกณฑ์ได้ดังต่อไปนี้ 
1.     ผังงานที่เขียนขึ้นต้องชัดเจน และดูง่าย 
2.     ต้องมีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดเพียงจุดเดียว 
3.     กำหนดทิศทางการทำงานด้วยลูกศร 
4.     สัญลักษณ์แบบเลือกทำจะต้องมีคำตอบที่ถูกต้องที่ทำให้โปรแกรมสามารถดำเนินต่อไปได้ 
5.     ลูกศรที่ใช้บอกทิศทางการทำงานไม่ควรเขียนตัดกันหรือทับกัน 
6.     ผังงานที่มีความซับซ้อนมาก หรือมีขั้นตอนการทำงานอยู่ห่างกันมาก ควรนำสัญลักษณ์การเชื่อมต่อมาใช้ เพื่อเข้าใจง่าย 
7.     การเขียนส่วนประมวลผลที่มีการคำนวณควรใช้เครื่องหมายลูกศรหรือเครื่องหมายเท่ากับในการเขียน 
8.     เมื่อเขียนผังงานจบแล้วควรตรวจสอบความถูกต้องของผังงาน โดยการสร้างข้อมูลขึ้นมาหนึ่งชุดแล้วดูว่าผลลัพธ์เป็นไปตามที่ต้องการหรือไม่ 
6.5 ลักษณะโครงสร้างการเขียนผังงาน
                โครงสร้างโดยทั่วไปจะมีอยู่ 5 รูปแบบดังนี้ 
1.       โครงสร้างการทำงานแบบลำดับ 
จะแสดงขั้นตอนการทำงานที่เรียงลำดับกันไป ไม่มีการข้ามขั้น หรือย้อนกลับไปทำคำสั่งที่ได้ทำไปแล้ว 
2.       ผังโปรแกรมแบบมีทางเลือก 
เป็นโครงสร้างที่ตรวจสอบเงื่อนไข ให้โปรแกรมเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ 3 กรณีดังนี้ 
2.1            การเลือกแบบหนึ่งเส้นทาง จะทำงานเฉพาะเมื่อเงื่อนไขเป็นจริงเท่านั้น 
2.2            การเลือกทำแบบสองเส้นทาง  จะพิจารณาเงื่อนไขที่เป็นจริงและเป็นเท็จ โดยถ้าเป็นจริงจะทำอย่างหนึ่ง  ถ้าเป็นเท็จจะทำอีกอย่างหนึ่ง 
2.3            การเลือกทำแบบหลายเส้นทาง จะพิจารณาเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ถ้าเท่ากับทางเลือกใดก็จะได้ไปทำงานตามทางเลือกนั้น 
3.       ผังโปรแกรมทำซ้ำแบบเงื่อนไขเป็นจริง 
จะใช้ในงานที่มีการตรวจสอบเงื่อนไข ถ้าเป็นจริงจะทำซ้ำ โดยจะตรวจสอบเงื่อนไขก่อนการทำงานทุกครั้ง
4.       ผังโปรแกรมแบบทำซ้ำจนเงื่อนไขเป็นจริง 
จะใช้ในระบบที่ต้องทำงานก่อนการตรวจสอบเงื่อนไข และทำงานซ้ำจนเงื่อนไขเป็นจริง 
5.       ผังโปรแกรมแบบทำซ้ำตามจำนวนที่ระบุ 
ใช้ในระบบที่ต้องการทำงานตามจำนวนรอบที่กำหนด โดยเริ่มจากรอบเริ่มต้นไปยังรอบสุดท้าย ตามปกติแล้วค่าการนับรอบจะเพิ่มขึ้นครั้งละหนึ่งค่า 
6.6 เครื่องมือสำหรับเขียนผังงาน 
                อุปกรณ์ที่ใช้ในการเขียนผังงานมีอยู่มากมาย สำหรับอุปกรณ์ที่เป็นเครื่องเขียน ได้แก่ ไม้บรรทัด แบบเทมเพลทพลาสติก ซึ่งจะมีสัญลักษณ์ของผังงานรูปแบบต่าง ๆ ให้เลือกใช้ ผู้ที่ต้องการเขียนผังงาน สามารถใช้ปากกาเขียนไปตามรูปแบบที่กำหนดได้ทันที 
สรุปท้ายบท 
                โดยสรุปแล้ว การเขียนผังงานเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยในการจัดลำดับและอธิบายขั้นตอนการทำงานในรูปแบบของแผนภาพซึ่งประกอบด้วยสัญลักษณ์ของการทำงานแต่ละขั้นตอน การเขียนผังงานนี้จะทำให้เห็นทิศทางการประมวลผลของโปรแกรม และทำให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจโปรแกรมในภายหลัง โดยทั่วไปผังงานจะแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ผังงานระบบ และผังงานโปรแกรม โครงสร้างในการเขียนผังงานนั้นมีอยู่ 5 รูปแบบ ได้แก่  โครงสร้างการทำงานแบบลำดับ  ผังโปรแกรมแบบมีทางเลือก  ผังโปรแกรมทำซ้ำแบบเงื่อนไขเป็นจริง  ผังโปรแกรมแบบทำซ้ำจนเงื่อนไขเป็นจริง  และผังโปรแกรมแบบทำซ้ำตามจำนวนที่ระบุ



บทที่ 1 - 5

1 ความคิดเห็น: